วัตถุประสงค์โครงการ

  1. เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีความคิดสร้างสรรค์และกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์
  2. เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีทักษะการสื่อสารและการอธิบายผ่านทักษะการพูด
  3. เพื่อให้เยาวชนเข้าใจถึงความสำคัญการใช้และการพัฒนา Multidisciplinary Skills

คุณสมบัติของผู้สมัคร

โครงการนี้สำหรับนักเรียนทุกคน (ไม่จำกัดสิทธิ์เฉพาะผู้ที่เคยเรียนหรือกำลังเรียนหลักสูตรแล็บของ SLS) ที่อยู่ในช่วง อ.3- ม.6 (K.3 – G. 12) สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยมีจัดการสอบแข่งขันแยกเป็นช่วงชั้นและกลุ่ม รวม 10 กลุ่ม ให้เลือกจากระดับชั้นเรียนปัจจุบันในขณะที่สมัครรอบที่ 1 ในช่วงระยะเวลาการรับสมัครและการส่งคลิป 14 กุมภาพันธ์ 2567 – 31 มีนาคม 2567

ประเภทการแข่งขัน

การตัดสินเกณฑ์การให้คะแนนแต่ละกลุ่มจะแยกเป็นประเภทการแข่งขัน ออกเป็นทั้งหมด 10 กลุ่ม
ประเภทผู้สมัครที่สะดวกใช้ภาษาไทยในการประกวด จำนวน 5 ช่วงชั้น (5 กลุ่ม)
อ.3 (ภาษาไทย) หรือ K.3 (English)
ความยาวตั้งแต่ 2 นาที ถึง 2 นาที 30 วินาที

ป.1 – ป.3 (ภาษาไทย) หรือ G.1-G.3 (English)

ความยาวตั้งแต่ 2 นาที 30 วินาที ถึง 3 นาที

ป.4 – ป.6 (ภาษาไทย) หรือ G.4-G.6 (English)

ความยาวตั้งแต่ 2 นาที 30 วินาที ถึง 3 นาที

ม.1 – ม.3 (ภาษาไทย) หรือ G.7-G.9 (English)

ความยาวตั้งแต่ 3 นาที ถึง 3 นาที 30 วินาที

ม.4 – ม.6 (ภาษาไทย) หรือ G.10-G.12 (English)

ความยาวตั้งแต่ 3 นาที ถึง 3 นาที 30 วินาที

ลักษณะของผลงานที่ส่งประกวด

1.  นักเรียนจะต้องแต่งกายด้วยชุดนักเรียน ส่วนนักเรียนที่เรียน Home school ต้องแต่งกายด้วยชุดสุภาพ

2. บันทึกวิดีโอการประกวด โดยตั้งกล้องบันทึกวิดีโอให้นิ่งอยู่กับที่ ด้านหน้าให้เห็นผู้เข้าประกวดชัดเจนตั้งแต่ช่วงเข่าขึ้นไปหรือเต็มตัว บันทึกตั้งแต่การแนะนำตัว จนถึงการพูดเพื่อจบคลิปวีดีโอ

3. สถานที่ที่ใช้ในการบันทึกวิดีโอ ไม่มีข้อกำหนดหรือบังคับใดๆ เพียงขอให้ผู้สมัครพิจารณาดูจากความเหมาะสมและให้มีเสียงอื่นรบกวนน้อยที่สุด เพื่อประโยชน์ของผู้สมัครเอง

4. เนื้อหาที่ปรากฏในคลิปเป็นความรับผิดชอบต่อตนเองของผู้สมัครเข้าประกวด โดยคณะผู้จัดโครงการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ปรากฏในสื่อวีดีโอ หากเกิดกรณีพิพาทใดๆ หรือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทางคณะผู้จัดโครงการฯจะไม่รับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น และผู้สมัครเข้าประกวดยินยอมให้คณะผู้จัดฯนำคลิปและข้อมูลไปใช้ เผยแพร่ ทำซ้ำ ดัดแปลงได้ โดยถือเป็นลิขสิทธิ์ของทางคณะผู้จัดโครงการฯ และเป็นไปตาม Personal Data Protection Act: PDPA

5. ข้อมูลและผลงานที่ผู้สมัครส่งเข้าสู่ระบบการรับสมัครแล้ว จะไม่มีการส่งคืน

6. ทางโครงการขอสงวนสิทธิ์ในการปฏิเสธใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามกติกา / เงื่อนไขข้างต้น ผลการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด โดยผู้ส่งผลงานเข้าประกวดไม่สามารถโต้แย้ง หรืออุทธรณ์ใดๆ ได้

7. กรณีเยาวชนสมัครผ่านทางโรงเรียนต้นสังกัดของท่าน ให้ติดต่อผู้ประสานงานของทางโรงเรียนของท่านเพื่อส่งและรวบรวมข้อมูล กรณีเยาวชนสมัครด้วยตนเองผู้สมัครต้องดำเนินการ โดยเริ่มเข้าไปลงทะเบียนและชำระค่าสมัครที่ www.slscontest.com ให้เรียบร้อยก่อน เพื่อให้ได้รับรหัสประจำตัวผู้สมัคร แล้วจึงทำการส่งคลิป

การจัดส่งคลิปวิดีโอการประกวด

วิธีการส่งคลิป สามารถทำได้ 3 รูปแบบ โดยผู้สมัครจะเลือกแบบใดแบบหนึ่งดังนี้

วิธีส่งคลิปแบบที่ 1 ส่งเป็น Link คลิปวีดีโอจาก YouTube ทาง www.slscontest.com โดยดำเนินการดังนี้

– สร้าง YouTube channel ของตนเอง และ Upload คลิปที่ต้องการใช้ส่งประกวดให้เรียบร้อยทางช่องส่วนตัวของผู้สมัคร โดยต้องตั้งค่าให้ให้วิดีโอสามารถ download ได้ ให้ผู้สมัครตั้งค่าเพื่อให้คณะผู้จัดฯ สามารถนำคลิปไปให้กรรมการพิจารณาได้ และขอให้ตั้งชื่อคลิป “TSIC2024 AAAA ชื่อ-นามสกุลนักเรียน” โดย AAAA คือรหัสประจำตัวผู้เข้าสมัครเมื่อทำการลงทะเบียนและชำระเงินค่าสมัครที่www.slscontest.com

– ตรวจสอบว่าคลิปวีดีโอที่ท่าน Upload บน YouTube channel ของท่านสามารถเล่นและแสดงผลได้ปกติ ไม่มีปัญหาทางเทคนิค

– ส่งเป็น Link คลิปวีดีโอจาก YouTube ที่ท่านสร้างขึ้นมาทาง www.slscontest.com และยืนยันการส่ง

วิธีส่งคลิปแบบที่ 2 ส่งเป็นการ Upload ไฟล์ VDO ทาง www.slscontest.com โดยดำเนินการดังนี้

– ผู้สมัครเข้าไปที่บัญชีของตนเองที่สร้างและชำระเงินค่าสมัครแล้วที่ www.slscontest.com

– ไปที่หน้า ส่งคลิปวีดีโอ” และทำการ Upload วีดีโอขึ้นระบบรับสมัคร และกดยืนยันการส่ง

วิธีส่งคลิปแบบที่ 3 ส่งเป็นไฟล์ VDO ทาง Line OA: @slscontest

– ผู้สมัครเข้าไปที่บัญชีของตนเองที่สร้างและชำระเงินค่าสมัครแล้วที่ www.slscontest.com เพื่อทราบรหัสผู้สมัคร

– ผู้สมัครทักไลน์เข้ามาที่ @slscontest เพื่อแจ้งรายละเอียดผู้สมัครให้ครบถ้วน ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล ผู้สมัคร, รหัสผู้สมัคร

– ส่งไฟล์วีดีโอหลังจากแจ้งรายละเอียดผู้สมัครครบถ้วนแล้ว

เกณฑ์การให้คะแนน

ผู้เข้าแข่งขันจะต้องพูดและแสดงความคิดสร้างสรรค์ของตนเองเกี่ยวกับโครงงานหรือสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์หรือเหตุการณ์รอบตัวที่สนใจ โดยสิ่งที่นำเสนอยังไม่จำเป็นต้องลงมือทำการทดลองจริง ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่หรือนวัตกรรม เพียงแต่นำเสนอความคิดสร้างสร้างสรรค์ของตนให้สอดคล้องกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างแนวทางการเริ่มต้นในหัวข้อที่สนใจ เช่น นักเรียนชั้น ป.1 คนหนึ่งสังเกตว่ามีอาหารชนิดหนึ่งที่วางในครัวแล้วมดขึ้นมากกว่าปกติ น้องจึงตั้งคำถามว่า ทำไมมดถึงขึ้นอาหารชนิดนี้มากผิดปกติ และตั้งสมมติฐานว่าในอาหารนี้มีส่วนผสม A B C หรือ D ที่ทำให้มดขึ้น น้อง ป.1 อาจจะนำเสนอแผนการทดลอง โดยเสนอแผนให้นำส่วนผสม A B C D ในอาหารแล้วแยกวางที่บริเวณในครัวที่มักจะพบมด และสังเกตว่ามดชอบขึ้นส่วนประกอบชนิดใดมากที่สุด แล้วสรุปว่ามดชอบขึ้นส่วนประกอบอาหารชนิดใด ประโยชน์ของโครงงานนี้คือ ถ้าไม่อยากให้มดขึ้นอาหารที่วางไว้ในครัวก็อาจหลีกเลี่ยงการใส่ส่วนผสมตัวนี้ หรือถ้าหาข้อมูลเพิ่มเติมไปอีกก็อาจหาได้ว่าส่วนประกอบนี้ทำมาจากอะไรแยกย่อยไปอีกซึ่งเป็นอาหารของสัตว์ประเภทมดได้ เป็นต้น โดยไม่ต้องลงมือทำจริง หากเป็นนักเรียนที่ระดับชั้นสูงขึ้น ก็อาจตั้งคำถามหรือมีหัวข้อโครงงานที่มีความซับซ้อนและระดับสูงขึ้นตามช่วงวัยและความสนใจของเยาวชนได้ โดยความคิดสร้างสรรค์ ความละเอียด ความสอดคล้องและความเหมาะสมของสิ่งที่ผู้สมัครพูดนำเสนอ จะถูกพิจารณาโดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

  1. การแนะนำตัว และการพูดเพื่อจบคลิปวีดีโอ [Self-Introduction and VDO ending] (5 คะแนน)
  2. การกล่าวถึงที่มา ความสำคัญ แรงบันดาลใจ หรือปัญหาที่มาของโครงงานหรือสิ่งประดิษฐ์ [Mentioning the origin of idea, importance, inspiration, or research problem of the project or invention] (30 คะแนน)
  3. การอธิบายแนวทางการวางแผนการทำโครงการหรือสิ่งประดิษฐ์โดยสังเขป [Brief explanation of the planning guidelines or steps or methods for a project or invention] (20 คะแนน)
  4. การอธิบายผลที่คาดว่าจะได้รับหรือประโยชน์จากโครงงานหรือสิ่งประดิษฐ์ [Explanation of the expected results or benefits from the project or invention] (20 คะแนน)
  5. การสรุปโครงงานหรือสิ่งประดิษฐ์ [Summary of project or invention] (15 คะแนน)
  6. การใช้น้ำเสียงและภาษากาย [Voice usage and body language] (5 คะแนน)
  7. การรักษาเวลา [Time management] (5 คะแนน)

กรรมการตัดสินการแข่งขัน

กรรมการตัดสินเป็นคณาจารย์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลากหลายแขนงสาขาที่มีประสบการณ์สูงจาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือสถาบันหรือหน่วยงานการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่นๆ

ข้อเสนอแนะในการเตรียมตัว และฝึกฝนของผู้เข้าแข่งขัน

  1. ศึกษารายละเอียดของโครงการ ทำความเข้าใจกับเกณฑ์การให้คะแนนอย่างละเอียด
  2. กำหนดปัญหาโครงงานหรือหัวข้อโครงงานหรือสิ่งประดิษฐ์ที่ตนเองสนใจ
  3. ค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ และนำมาเรียบเรียงด้วยคำพูดของตนเอง โดยแนะนำให้เรียบเรียงเนื้อหาอย่างเป็นลำดับขั้นตอนเพื่อความง่ายในการจัดเรียงลำดับความคิด โดยเรียงลำดับการพูดตาม “หลักเกณฑ์การให้คะแนน” ในข้อ 1-5
  4. ใช้ภาษาและคำศัพท์ทั่วไปในการพูด อธิบายเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจได้ในเวลาอันสั้น
  5. ฝึกใช้น้ำเสียงและภาษากายในการพูดได้อย่างเหมาะสมและเป็นตัวของตัวเอง
  6. ฝึกฝนการพูดพร้อมกับจับเวลาจนมั่นใจ